วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ครูสมพรคนสอนลิง

“การฝึกผู้ไม่รู้ให้รู้ ไม่จำเป็นต้องลงโทษเฆี่ยนตี ต้องสอนแบบไม่บังคับ ไม่เฆี่ยนตี เพราะการเฆี่ยนตีคือโทสะ เหมือนการทำให้น้ำขุ่นจะไม่เห็นตัวปลา จิตไม่สงบก็ไม่เกิดปัญญา...ครูสามารถฝึกลิงได้ด้วยความรักและเมตตา”
“ครูที่เป็นครูต้องสอนศิษย์ได้ทุกคน จะเลือกรับเฉพาะคนฉลาดเท่านั้นไม่ได้ เพราะถ้าคัดเลือกโดยสอบเข้า เท่ากับปฏิเสธคนอีกจำนวนมากไม่ให้มีโอกาสเรียน แปลว่าสังคมมีการแบ่งแยกและทอดทิ้งคนที่สอบไม่ได้ แล้วเด็กที่สอบคัดเลือกเข้าที่ไหนไม่ได้หรือเด็กที่โง่นั้นจะเอาไปไว้ที่ไหน ใครจะรับผิดชอบคนเหล่านั้น”
เทคนิคการสอนของครูสมพร เริ่มต้นด้วยความรัก โดยครูจะทำให้ดูก่อน แล้วรอจนศิษย์ลิงสนใจอยากเข้ามาทำตาม ถ้าลิงไม่พร้อมที่จะเรียนครูก็จะอดทนและตั้งใจสอนไป จนกว่าลิงยินดีที่จะเรียนด้วย การสอนจะเป็นการฝึกให้ผู้เรียนปฏิบัติเอง โดยการทำซ้ำๆ จนเกิดความรู้ความชำนาญ และสอนจากง่ายไปหายาก เช่น เดือนที่ 1 ฝึกการใช้มือ เดือนต่อไป ฝึกใช้เท้า เดือนที่ 3 ฝึกท่ายืน ท่ากระโดด เดือนที่ 4 ไต่ราว ฯลฯ วิธีการสอนของครูสมพรจะใช้วิธีสอนแบบตัวต่อตัว คือฝึกลิงทีละตัวด้วยความอดทน ให้พัฒนาการอย่างมีขั้นตอนตามความสามารถรายตัว (บุคคล) และใกล้ชิดจนรู้จักศิษย์ลิงแต่ละตัวเป็นอย่างดี ครูสมพรทำตัวเป็นเพื่อนกับศิษย์ โดยกล่าวว่า “ครูที่ดีต้องไม่ถือว่าตัวเองเป็นครู เพราะถ้าครูคิดว่าตัวเองเป็นครู จะทำให้มีอคติ มีอัตตา คิดว่าข้าแน่ ข้าเก่ง...การคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่คับแคบและเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน เพราะครูจะเชื่อว่าความรู้ของตนเองถูกต้องเสมอ” และสุดท้าย คือการเรียนอย่างมีความสุข โดยไม่ใช้เวลาสอนนานจนศิษย์ลิงเบื่อและไม่อยากเรียน แต่ศิษย์ลิงของครูสมพร ได้เรียนรู้จากการเล่น และเรียนอย่างมีความสุข
“ครูมิใช่มีหน้าที่เพียงให้ความรู้ มิใช่เพียงทำหน้าที่เฉพาะในห้องเรียน แต่ครูคือผู้ที่เอาใจใส่ดูแลศิษย์ทุกคน ส่งเสริมให้ศิษย์ได้เรียนตามความสนใจและความถนัด ครูคือผู้ที่ค้นพบศักยภาพผู้เรียน เป็นผู้ที่สามารถชี้แนะแนวทางอนาคต และส่งเสริมให้ศิษย์ก้าวไปในทิศทางที่ควรจะเป็น หน้าที่ครูไม่ใช่เพียงสอนหนังสือ แต่ครูทำมากกว่านั้น คือ สอนคนให้เป็นคน สอนด้วยความรักความเมตตา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น